วัดศิมาลัยทรงธรรม http://watsimalai.siam2web.com/

พระอธิการฉัตรชัย อนาลโย (หลวงปู่โต)

วัดศิมาลัยทรงธรรม

หมู่ที่ 7 ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

 
พระอธิการฉัตรชัย อนาลโย หรือที่ญาติธรรมนิยมเรียกว่า หลวงปู่โต ถึงแม้ท่านจะมีอายุไม่มากนัก แต่ท่านก็ได้รับการยกย่องเรียกชื่อว่า หลวงปู่ ซึ่งมีอยู่ไม่กี่องค์นักที่ได้รับการขนานนามเช่นนี้ เพราะว่าท่านเป็นพระที่มีปฏิปทาที่น่ายกย่องเลื่อมใส และเพียบพร้อมไปด้วยศีลาจารวัตรอันงดงาม เป็นผู้ที่ยอมมอบกายถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา เพื่อสืบสานพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่คู่กับแผ่นดินไทย  
ประวัติโดยสังเขป
 
ตามสูติบัตรอาตมาเกิดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2514 ที่ตำบลในเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โยมพ่อชื่อ ร.ต.อ.สุชาติ จารุเกษม โยมแม่เป็นครูชื่อ นางนพดา ส่วนอาตมาเป็นบุตรคนกลาง มีพี่สาว 1 คน ชื่อ อารีรัตน์ จารุเกษม และก็มีน้องสาวอีก 1 คน ชื่อ สุชาดา จารุเกษม เดิมอาตมาชื่อ ฉัตรชัย จารุเกษม
 
ชีวิตในวัยเด็กก็เหมือนกับเด็กปกติทั่วไป แต่มีปัญหาอย่างหนึ่งคือ เกิดความสงสัยว่าทำไมพ่อแม่ต้องแยกทางกัน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เป็นเพราะอะไร เราก็มีความรักในพ่อรักในพ่อ
่อแม่นั้นเดิมทีก็รักกันดี แต่ตอนหลังนั้นได้ทะเลาะกันบ่อยๆ เป็นเพราะอะไร ก็สงสัยอยู่อย่างนั้น แต่ก็ยังหาคำอธิบายไม่ได้ เมื่อพิจารณาอย่างนั้น แต่ก็หาคำอธิบายไม่ได้ เมื่อคิดพิจารณาดูบุคคลรอบข้างและคนทั่วๆไป ก้เห็นเป็นเช่นนี้ไม่ใช่แต่เฉพาะครอบครัวของเราเท่านั้น ครอบครัวอื่นๆก็เป็นเหมือนกัน

ชีวิตในวัยเด็กของอาตมาก็ไปอยู่กับญาติอยู่กับย่า ไปอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานีบ้าง ที่จังหวัดสุรินทร์บ้าง ที่สุรินทร์นี่ก็อยู่ถึง 5 ปี ได้ไปเรียนรู้ในทุ่งไร่ทุ่งนา เรียนรู้ในการจับสัตว์ เรียนรู้ในการเป็นเกษตรกร เพราะปู่ชอบการเกษตร หลังจากที่ท่านเกษียณแล้ว ท่านก็เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา ปลูกผัก คนที่เกษียณแล้วบั้นปลายชีวิตเขาหวังอย่างนั้น


การศึกษาเล่าเรียน

ช่วงที่ไปอยู่กับปู่นั้น ก็ได้เข้าเรียนที่ โรงเรียนสุริยะวิทยาคาร แล้วก็ย้ายเพราะความไม่พร้อมและขาดคนรับผิดชอบ ก็ย้ายไปอยู่กับญาติอีก คราวนี้ย้ายไปอยู่กับญาติฝ่ายแม่ ไปอยู่ที่ อำเภอนาแก เรียนที่โรงเรียนนี้ เพราะมีลุงซึ่งเป็นญาติกันเป็นรองผู้อำนวยการอยู่ เรียนที่นี่ อาตมาได้เป็นนักกีฬาดีเด่น เป็นนักวิ่ง เป็นนักกีฬาตะกร้อ จากนั้นก็ย้ายมาเรียนที่ โรงเรียนนารีนุกูล จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด ศึกษาเล่าเรียนไปก้มีสิ่งหนึ่งมาสะกิดใจขึ้นมา คือมีชั่วโมงพระพุทธศาสนา พอเรียนไปก็รู้สึกชอบและประทับใจอย่างบอกไม่ถูก แล้วก็ฝังใจอยู่อย่างนั้น และได้มาคิดสงสัยว่า ทำไมต้องมีการบรรลุ พระอรหันต์ ทำไมต้องมีพระพุทธเจ้า ทำไมหมอสอนศาสนาต่างๆ ต้องขี่จักรยานมาสอน

หมอสอนศาสนาเขาบอกว่าพระเจ้าของเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็เกิดความสงสัย เกิดการคิดลึกในใจ สังเกตดูอาการของอารมณ์และความนึกคิดของเรา คล้ายๆว่าเป็นคนสองอารมณ์ สองความคิด เดี๋ยวตัวหนึ่งก็ค้าน เดี๋ยวตัวหนึ่งก็สมยอม เมื่อเอาความนึกคิด เอาการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและเอาการเจริญเติบโตมาพินิจพิจารณาดูก็เป็นมาตรฐานหนึ่ง เป็นเหตุหนึ่งให้อาตมาได้ศึกษา ซึ่งในชีวิตของการศึกษานั้นก็ได้เรียนมาถึงวิทยาลัยครูราชภัฏ คิดไปคิดมาเราก็เรียนตรงนี้ไปเพื่ออะไร ก็เกิดความสงสัยขึ้นมาอีก เลยไปเรียนควบ 2 สถาบัน คือ ไปเรียนที่วิทยาลัยเทคโนโลยีด้วยเพราะหวังจะให้มีความรู้มากขึ้น พอเรียนไปอะไรๆก็ไม่ชอบใจ มีอยู่พักหนึ่งพอได้พินิจพิจารณามากๆเข้า เมื่อไปเรียนก็รู้สึกว่าฟังครูไม่ค่อยจะเข้าใจ อยู่กับเพื่อนก็มีแต่เรื่องวุ่นวาย สนุกกับเขาก็ไม่ได้ ตอนพักเที่ยงต้องกลับมาที่บ้านมานั่งสมาธิ บ้านอยู่ห่างจากราชภัฎประมาณ 3 กิโลเมตร พอได้นั่งสมาธิภาวนาจนจิตสงบลงแล้ว ก็มีความอิ่มใจเกิดปิติขึ้นมา สามารถกลับมาเรียนมานั่งกับเขาได้ แต่จะให้ครื้นเครงไปนั่นไปนี่คงไม่ได้


อุบายของโยมพ่อโยมแม่

มันก็เป็นเรื่องแปลก สงสัยเรามากำหนดจิตผิด จิตมันเลยวิปลาสไปหรือเปล่า โยมพ่อโยมแม่ท่านก็จะมีอุบายของท่าน คือ จะพาเราไปวัดตั้งแต่เด็กๆ ประเพณีของคนโบราณ คนภูไท ตำบลพระสอง อำเภอนาแก ก็จะเข้าวัดเข้าวาเจอพระเจ้าพระสงฆ์มากมาย ท่านก็ได้พบกับครูบาอาจารย์ต่างๆ คุณตาก็ดี คุณแม่ก็ดี เมื่อมาที่อุบลราชธานี ท่านก็เข้าวัดนั้นออกวัดนี้ แล้วก็ทำบุญใส่บาตร และท่านจะวางหนังสือธณรมะไว้ในห้องนอนของอาตมา เมื่อเราเห็นเราก็มีความสงสัย ยามใดเราไม่สมหวังหรือเกิดความทุกข์ เกิดความคิดนึกฟุ้งไป คิดไปไม่หยุดไม่สิ้น เราก็เกิดความสงสัยว่าจะระงับความคิดได้อย่างไร ก็จะมาเปิดหนังสืออ่าน ซึ่งหนังสือที่มีมากที่สุดก็คือ หนังสือของ หลวงปู่ชา สุภัทโท ไม่ว่าจะเป็น นอกเหตุเหนือผล น้ำไหลนิ่ง แล้วก็ประวัติของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อ่านวันละเล็กวันละน้อย เมื่อสะสมหลายวันหลายปีเข้าก็ทำให้เราเกิดความสงสัยไปใหญ่ว่า จิตนั้นมีคุณสมบัติและมีคุณวิเศษอย่างนั้นจริงหรือ?


ไปช่วยงานที่วัดหนองป่าพง

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ทำให้เกิดความสงสัยมากยิ่งขึ้น คือเมื่อครั้งงานที่ หลวงปู่ชา สุภัทโท ท่านละสังขาร ซึ่งตอนเด็กๆนั้นเราก็เที่ยวไปเรื่อยๆ ไปเข้าวัดหนองป่าพง ซึ่งมีชื่อเสียงกิตติศัพท์ทางพระป่า ทางสมุนไพร ทางต่อกระดูก เวลาใครแขนหักก็จะไปต่อที่วัดหนองป่าพง พระท่านจะต่อให้ เขาว่ากันอย่างนั้น แต่เราไม่ทราบอะไรหรอก ตอนที่เราเรียนหนังสืออยู่หลวงปู่ชาท่านละสังขารพอดี เราก็ต้องไปตามหน้าที่ของนักเรียนที่เรียนวิชาวัฒนธรรมและสังคมศึกษา คือจะต้องไปปัดกวาด ไปตั้งโรงทาน ไปทำความสะอาด และคอยเสิร์ฟน้ำ เตรียมสถานที่ไว้สำหรับรับเสด็จสมเด็จฯท่าน ท่านจะเสด็จมาทั้งสองพระองค์เลย ก็ไปตามหน้าที่ แล้วก็กลับไปเก็บหนังสือธรรมะที่เขาแจกกัน ซึ่งเราก็มีหน้าที่แจกกับเพื่อนฝูงและญาติมิตร พอพระองค์ท่านเสด็จมา เราก็ได้ชมพระบารมีของทั้งสองพระองค์แล้วก็ได้เห็นพระภิกษุสงฆ์มากมายตามถนนหนทางก่อนที่จะมีงานไปมุกดาหาร ก็เห็นพระสงฆ์เดินกันเป็นขบวนไปทางอำนาจเจริญ ช่องเม็ก โขงเจียม ก็เห็นก็คิดว่าพระสงฆ์มาทำอะไรกันหนักหนา แล้วมากันด้วยเหตุผลอันใด

เพราะเราเห็นหลวงปู่ชาท่านก็เป็นพระธรรมดาๆ ทำให้เรายิ่งสงสัยไปกันใหญ่ เลยหยิบหนังสือของท่านมาพินิจพิเคราะห์ ท่านได้กล่าวธรรมะไว้อย่างง่ายๆ และหลายอย่างที่เข้ามาในใจเรา เช่น เรื่องของธรรมะในต้นไม้ ทำให้เราได้ซึมซับเข้าไปเรื่อยๆ ก็เป็นเหตุทำให้เราต้องเอาหนังสือเล่มอื่นๆ มาเปรียบเทียบกันว่า ความจริงคืออะไร ทำไมต้องมีศาสนา ทำไมจะต้องมีการทำสมาธิ ทำไมจะต้องมีปัญญา ทำไมปัญญาต้องมีกับพระ และทำไมถึงมีพระองค์เดียวอยู่ในหมู่บ้านชนบท ซึ่งอำเภอวารินชำราบก็บ้านนอก แต่ทำไมจึงมีความแตกต่างกัน ไม่เว้นแต่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินท่านก็ยังเสด็จมา พระสงฆ์อยู่ในป่าในเขาก็อดรนทนไม่ได้ ต้องดั้นด้นตากแดดตากฝนเดินมา มาจากที่ไกลๆ เช่น จังหวัดสกลนคร ก็มี พอถามญาติๆ เขาก็บอกว่า ทางโน้นก็มี ทางนี้ก็มี ยิ่งทำให้เราแปลกใจเข้าไปใหญ่


อ่านหนังสือของครูบาอาจารย์จนเกิดความสุขสงบ

จึงได้ไปหยิบเอาตำหรับตำราต่างๆ ขึ้นมาอ่านอย่างพินิจพิจารณา แล้วก็ได้ไปหยิบเอาเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท สภาพอาศัยปัจจุบันเกิดขึ้น คือการที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น และการที่ทุกข์เกิดขึ้นก็เพราะอาศัยปัจจัยต่อเนื่องกันมา ซึ่งได้อ่านและได้ค้นคว้าเรื่องของ

     อวิชชาปจจยา สงขารา เพราะ อวิชชา เป็นปัจจัย สังขารจึงมี

     สงขารปจจยา วิญญาณง เพราะ สังขาร เป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี

     วิญญาณปจจยา นามรูป เพราะ วิญญาณ เป็นปัจจัย นามรูปจึงมี

     นามรูปปจจยา อายนง เพราะ นามรูป เป็นปัจจัย อายตนะจึงมี

     อายตนปจจยา ผสโส เพราะ อายตนะ เป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี

     ผสสปจจยา เวทนา เพราะ ผ้สสะ เป็นปัจจัย เวทนาจึงมี

     เวทนาปจจยา ตณหา เพราะ เวทนา เป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี

     ตณหาปจจยา อุปาทาน เพราะ ตัณหา เป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี

     อุปาทานปจจยา ภโว เพราะ อุปาทาน เป็นปัจจัย ภพจึงมี

     ภวปจจยา ชาติ เพราะ ภพ เป็นปัจจัย ชาติจึงมี

     ชาติปจจยา ชรามรณ เพราะ ชาติ เป็นปัจจัย ชรา มรณะ จึงมี

พออ่านๆไป เราก็คิดว่าเราเข้าใจแล้ว ความจำหรือ สัญญาขันธ์ เข้าใจหมดแล้ว จนถึงนิพพาน การถึงนิพพาน คือการดับ เมื่ออ่านกลับไปกลับมาอยู่หลายรอบจนจำได้ท่องได้ จากนั้นก็ไปหัดเดินจงกรม และหัดนั่งสมาธิ ก็หวังว่าจะมีความรู้ที่แปลกๆ เกิดขึ้นเหมือนกับในหนังสือของครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่เขียนไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นทิพย์ของจิต เรื่องความเป็นสมาธิ เรื่องคุณของศีลอะไรต่างๆ ก็พยายามทำไป ซึ่งทำไปก็หมายมั่นด้วยความจำสัญญาว่า ตนได้นั่น ได้นี่ จึงเกิดความสุขสงบ ก็คิดว่าตนได้พบหนทางของชีวิตแล้ว คนสามารถที่จะหยุดความคิดฟุ้งซ่านได้แล้ว และได้อ่านเรื่องของ นิวรณ์ห้า สิ่งที่ขัดขวางจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม ซึ่งมีอยู่ 5 อย่างด้วยกัน คือ

     1. กามฉันท์ พอใจในกามคุณ

     2. พยาบาท คิดร้ายต่อผู้อื่น

     3. ถีนมิทธิ ความหดหู่ ซึมเซา

     4. อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและรำคาญใจ

     5. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย

ก็คิดว่าตัวเองเหนือนิวรณ์มาแล้ว อยากจะซักถาม แต่ก็ถามใครไม่ได้ เพราะไม่มีใครมีความเข้าใจเลย เราจึงต้องเก็บตรงนี้ไว้ซะนานทีเดียว


คิดอยากจะบวช

จนมีช่วงหนึ่งที่เรารู้สึกว่ามันไม่ไหวแล้ว กายมันร้อน นึกอยากจะปลงผมตัดผม จะตัดตรงนี้ก็กลัวจะเข้าหมู่เข้าพวกกับเขาไม่ได้ จึงต้องคิดพิจารณาให้ดีเสียก่อน แล้วก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นเข้าพรรษานี้จะบวชแล้ว เราก็พูดเล่นๆไป เพราะเมื่อเข้าเบญจเพศเราก็ต้องบวชทดแทนคุณบิดามารดา บวชตามประเพณีอะไรไป อีกอย่างหนึ่งคือ ได้ไปพูดกับเพื่อนไว้ เขาเห็นว่าเราเป็นคนธรรมะธรรมโมและชอบเอาหนังสือธรรมะมาแจก เวลาไปวัดที่ไหนมาก็จะเอามาแจก เขาก็เลยหยอกล้อแซวว่า เมื่อไหร่จะบวชล่ะ ก็เลยเป็นเหตุให้เกิดความละอาย เพราะได้พูดไว้แล้วก็คงต้องทำ พอเพื่อนล้อและบวกกับความสงบพอสมควร ก็มาพินิจพิจารณาว่าคงจะบวชได้แล้ว ตัดสินใจได้ตอนเที่ยง ก็เลยไปปรึกษากับโยมแม่ ถามท่านว่ามีวัดไหนให้บวชบ้าง จะบวชช่วงเข้าพรรษา ท่านก็บอกว่ามี ก็ขอเวลาท่านไปแต่งตัว 10 นาที แล้วก็ไปที่วัดกันเลย

พอไปถึงพระท่านก็บอกว่า บ่าย 3 โมงปลงผมเลย แต่เรายังไม่ทันได้เตรียมตัวอะไรมา จึงขอกลับไปบ้านก่อน แล้วก็ได้มาพินิจพิจารณาว่าคงถึงเวลาแล้ว เราอยู่ทางโลกก็ท่องเที่ยวมาเยอะ ได้ใช้ชีวิตในวัยเด็กซัดเซพเนจรตามกระแสโลกมาก็เยอะ อะไรๆก็ได้เรียนรู้ในทางโลกมาแล้ว ก็พอจะเข้าใจในเรื่องของการกินและการเป็นอยู่ต่างๆพอสมควรแล้ว และก็ได้พบเห็นคนมาหลายชนชั้น เพราะบ้านเราก็เป็นบ้านให้คนเช่า ได้พบปะผู้คนมากหน้าหลายตาหลายปัญหา ทำให้เราเกิดความเบื่อหน่าย

แล้วมานั่งพินิจพิจารณาว่า อะไรคือความรัก อะไรคือความสุข อะไรคือความจีรังยั่งยืนถาวร และอะไรเป็นสิ่งที่มนุษย์แสวงหากัน?

เมื่อเราได้พินิจพิจารณาคิดว่าจะสละตนบวชในพรรษา และจะปฏิบัติธรรมให้เข้าใจ ถ้าปฏิบัติได้จริงตามที่เราปรารถนาก็จะอยู่ต่อไป แต่ถ้าไม่จริงหรือปฏิบัติไม่ได้ก็จะถอนตัวออกมา คิดว่าจะไม่ทำให้เปื้อนพระศาสนา คิดไว้อย่างนั้น พอตัดสินใจได้ บ่าย 3 โมง พระท่านก็ปลงผมให้ แล้วห้ามเราไปไหน ทีนี้เพื่อนก็มารบเร้าให้เราไปเที่ยว คือเพื่อนมาจากต่างประเทศหลายคนในวันนั้น ก็แปลกดีเพราะเราไม่ได้บอกใคร

วันนั้นก็เลยตัดสินใจนั่งฉลองกัน ก็ไม่มีอะไรแค่นั่งกินข้าวกันธรรมดา เพื่อนๆที่มาชวนก็ได้ปฏิเสธไม่ได้ไปกับเขา ใครจะมาก็มา เพราะไม่ได้บอกใครมาก พอเวลา 15.00 น. ก็ออกบวชเลย โดยมี พระครูภัทรคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูเขตโสภณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระครูวีรัตน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ บวชเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 ตอนอายุ 25 ปี ที่ วัดนามึน ตำบลไร่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี


รุ่มร้อนอยากไปอยู่ถ้ำ

พอบวชเสร็จแล้วก็ได้ขอ หลวงพ่อสมชาย ภัทรนิคม ว่า "หลวงพ่อ ผมรู้สึกว่าตัวมันร้อน ผมอยากจะไปอยู่ในถ้ำที่หลวงพ่อเคยพาผมไป" ซึ่งอยู่ที่โขงเจียม เคยไปดูไปสัมผัสมาก่อนที่จะบวช พอเข้าไปข้างในจะรู้สึกเย็นสงบ พอกลับมาบ้าน เวลาที่เรามีความทุกข์ก็ดี มีความคิดนึกที่ไม่จบสิ้นก็ดี เราก็จะนึกถึงถ้ำ พอนั่งสมาธิภาวนาไป ก็จะเกิดโอภาส เกิดความสว่างความสงบขึ้น เกิดเป็นสิ่งที่ผูกตาผูกใจเรา พอบวชแล้วก้ได้ไปหาพระอุปัชฌาย์ที่บ้านนามึน

เมื่อกลับมาเราก็เลยอยากจะไปถ้ำเดี๋ยวนั้นเลย ขณะนั้นท่านก็ไม่ว่าง เราก็รู้สึกร้อน ไม่รู้ว่าจะไปตอนไหน ใจก็ร้อนอยู่ไม่ได้ นอนไม่ได้เลย ถ้าต้องอยู่ในเมืองอยู่กับสิ่งที่กระทบกระทั่งแบบนี้ อยู่กับเสียงอยู่กับอะไรต่างๆอย่างนี้ เราคงอยู่ไม่ได้แน่ ต้องไปอยู่ในป่าในเขาอาศัยธรรมชาติหล่อเลี้ยงจิตใจ แล้วเราก็เป็นคนชอบธรรมชาติชอบป่าชอบเขาอยู่แล้ว พอไปอยู่ป่าอยู่เขาได้อยู่กับธรรมชาติ อยู่ในที่สงบๆก็เกิดความประทับใจก็อยู่ได้

ตกเย็นท่านก็เลยพาไปที่ ถ้ำปาฏิหารย์ ไปถึงก็ค่ำพอดี ท่านเจ้าอาวาส หลวงพ่ออุดม กิตติญาโณ ก็รับไว้ จึงเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่ได้เริ่มศึกษาพระพุทธศาสนาในแง่มุมต่างๆซึ่งตอนที่บวชนั้นก็ได้นิมิตเป็นฤาษีนั่งอยู่ในถ้ำ ก็เกิดความรู้สึกสงบมีความสุขสว่างขึ้นมา คิดว่าจะมีอะไรสงบไปกว่านี้มีอีกมั้ย มีอะไรที่เราจะรู้เห็นได้มากกว่านี้มั้ย ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เราติดใจอยากที่จะบวช


เสี่ยงอธิษฐานจิตก่อนออกเดินทาง

เรื่องของนิมิตหรือเรื่องของอะไรต่างๆ ก่อนที่จะเดินทางนั้น ที่อาตมาได้อ่านในหนังสือของครูบาอาจารย์มา คือท่านจะเสี่ยงนิมิตก่อนอย่างอาตมาเคยอ่านเรื่องของ ครูบาศรีวิชัย ก่อนที่ท่านจะมาสร้างดอยสุเทพหรือมาสร้างอะไรต่างๆที่ลำพูนนั้น ท่านก็ต้องเสี่ยงนิมิตก่อน คือ ว่าจะทำการอธิษฐานจิตว่า ที่นี่จะทำได้มั้ย อาตมาก็พยายามศึกษาว่าสิ่งเหล่านี้มีมั้ย คือสิ่งที่ท่านพูดนั้นมีจริงมั้ย หรือแม้แต่ครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ ท่านก็ทำกันอย่างนี้ จากที่อ่านหนังสือประวัติของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต มานั้น คือท่านจะบอกกับลูกศิษย์ว่า "ที่นี่ไม่ควรไป ที่นี่ควรไป ที่นี่ยังไปไม่ได้ บุคคลผู้นี้ควรอยู่ที่นี่ บุคคลคนนี้ควรถือกรรมฐานอย่างนี้"

ทำให้เราสงสัยว่า สิ่งเหล่านี้มีจริงมั้ย ที่จริงจำเป็นจะต้องเรียนรู้และพิสูจน์ให้รู้ คือให้ทำความสงบแล้วก็ตั้งจิตอธิษฐาน แต่การอธิษฐานในเบื้องต้นกับท่ามกลางก็ต่างกัน ถ้าจิตของเราไม่ตรงหรือเรามีศีลไม่บริสุทธิ์ มีสมาธิไม่ตั้งมั่น มีความทะเยอทะยานอยากตามอารมณ์ของ กามตัณหา มีภาวะตัณหา ความอยากมีอยากเป็นตามอารมณ์ จิตก็จะไม่ตั้งมั่น บางครั้งคำอธิษฐานก็ไม่ปรากฎ แต่เมื่อเรามีความตั้งมั่นพอ เราก็จะอาศัยคำอธิษฐานต่อหน้าพระพุทธ อาศัย พุทธคุณ ธรรรมคุณ สังฆคุณ ขอให้เราได้รู้แจ้งเพื่อจะได้ไม่หลงทาง และจะได้ไม่ต้องเสียเวลาด้วย ที่ใดควรแก่เราก็ขอให้บังเกิดมี ก็จะใช้การเสี่ยงอย่างนั้น แต่โดยมากแล้วมันเป็นเรื่องภายในที่เราควรจะนำตัวเอง นำจิต นำกายให้รอดพ้นจากสิ่งต่างๆที่มากระทบกระทั่ง ทั้งสิ่งที่มองเห็นและสิ่งที่มองไม่เห็น เป็นการนำตนให้รอดพ้นจากทุกข์ภัยต่างๆ ที่เราได้ถือพรตพรหมจรรย์ ได้เดินท่องเที่ยว รุกขมูล ไปในป่าเขา


เริ่มออกธุดงค์

พอไปอยู่ที่ถ้ำปาฏิหารย์ได้ 2 พรรษา ก็ขออนุญาตท่านอาจารย์เดินข้ามป่าดงนาทาม ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ผาชนะได หวังว่าจะไปโผล่อีกฝั่งหนึ่งคือฝั่งลาว ตอนนั้นได้อ่านหนังสือของ สมเด็จลุน และของ หลวงปู่คำคะนิง คืออาตมาชอบอ่านหนังสือ เป็นนักอ่าน อย่างเช่นอ่านพระไตรปิฎก อ่านไปก็สงสัยไปรุกขมูลไป ก็หวังว่าจะเหมือนกับพระสมัยก่อนอย่าง หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ก็ดี เพราะเราเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี ท่านก็เป้นชาวโขงเจียม ซึ่งไม่ว่าจะไปวัดไหนๆ ในสายพระป่าก็จะกล่าวถึงหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่คะนิง ก็ก้องอยู่ในหูเราอย่างนั้น

โดยมากครูบาอาจารย์ที่ละสังขารไปแล้วตามยุคตามสมัยตามกาลเวลา ท่านมักจะกล่าวถึงองค์หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ว่าท่านต้องข้ามไปลัดเลาะไปทางฝั่งโขง เราจึงอยากจะชมอยากจะยลธรรมอันวิจิตรที่ท่านได้รับรู้ในการรุกขมูล ก็เลยต้องอาศัยเลียบฝั่งโขงไป ก็ไปโผล่ที่วัดของ หลวงปู่พรหมา ก็ได้ขออาศัยและกราบขอพรจากท่าน ได้ถวายพระไตรปิฏกฉบับประชาชนที่ถือมาด้วยแก่ท่าน จากนั้นก็ข้ามไปทางจังหวัดสกลนคร ตั้งใจว่าจะไปโปรดโยมตากับโยมป้า เขาก็เกิดมีการเลือกตั้งหาเสียงกัน รู้สึกช่วงนั้นบ้านเมืองไม่ปกติ แล้วเราไปแบบเลียบฝั่งโขงเขาอาจจะมองว่าผิดกฎหมาย คือถ้าเจอใครที่แปลกปลอมหรือแปลกหน้าเข้าไปเขาจะจับหมดเลย กฎหมายอยู่ที่ปลายปืนเท่านั้น

ทำให้เราต้องฉุกคิดว่า คงยังไม่ถึงเวลา จึงเปลี่ยนใจธุดงค์ต่อไปทางภาคเหนือ คือมีนิสัยที่ชอบธรรมชาติชอบถ้ำอยู่แล้ว ถ้าได้ยินว่าเป็นถ้ำเป็นผาที่ไหน ก็จะต้องแวะเข้าไป เมื่อไปแล้วทำให้เกิดความสงบเหมือนตัวเองอยู่ในครรภ์มารดา มันปลงได้เยอะ พิจารณาได้เยอะ ยามเราจะถอน อุปาทานตัณหา ที่มันอยู่ในใจเราที่มันติดตามเรามาเป็นภพเป็นชาติเราก็ได้อาศัยถ้ำ แล้วมันก็วิเวกจริงๆ อย่างถ้ำที่พิษณุโลกเข้าไปข้างในน้ำก็นอง ปฏิบัติอยู่ในนั้นก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้จิตมันเปลื้องเป็นอิสระให้จิตตั้งมั่น ทำให้เราเกิดความรู้ ให้มีบุญบารมีเหมือนครูบาอาจารย์ท่าน เราก็เลยยอมพลีกายถวายชีวิต่างๆนานา พอจุดไปดูในนั้นมีแต่งูเต็มไปหมด ข้างๆที่เรานอนอยู่ก็มี อยู่ๆกันไปจนเกิดเป็นความเคยชิน คือไม่กลัวเขา แล้วรู้มาจากพระผู้ใหญ่ที่นำทางว่า งูนี้ถ้าเราไม่ไปเหยียบเขาๆก็จะไม่กัดเรา เราลองศึกษาดูก็เป็นจริงอย่างที่ท่านว่าไว้

ความประทับใจในถ้ำในผาก็มีอยู่ทุกที่ แม้แต่ใน ถ้ำพระพุทธ เราก็อยู่ถึง 2 ปี ที่ช่องพระมาลัย อำเภอขุนหาญ ซึ่งอีก 4 กิโลเมตรก็จะถึงชายแดนเขมรอยู่แล้ว ก็ไปนั่งพิจารณา นานๆทีโยมแม่ถึงจะเอาข้าวเอาอาหารมาให้ เพราะมันอยู่ไกล แล้วก็ต้องลงเขามาถึงหน้าผาเป็นเชิงผามีน้ำตกตลอดปีเรียกว่า ถ้ำพระพุทธ คือมีพระพุทธตั้งอยู่หนึ่งองค์ นานๆ ก็จะมีพรานไพรมาทีหนึ่ง อยู่ที่นั่นก็เกิดความวิเวกเกิดความสงบอยากจะพิจารณา ไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความมิใช่ตัวตนให้เข้าใจ อยากพิจารณาให้เห็นกาย ก็เกิดความสงสัยไปทั่ว เกิดความโลภในธรรมะ อยากจะรู้ธรรมะ อยากจะบรรลุธรรมะ

เมื่อได้ไปถ้ำไหนก็ชอบประทับใจในถ้ำทุกที่เลย และได้ข่าวว่าที่นี่มีถ้ำจึงได้มา ตอนแรกอยู่ที่สุไหลโกลก อยู่ที่ ถ้ำเขาลูกช้าง จังหวัดสงขลา อยู่ในถ้ำนี้จิตใจก็สงบ ได้เจอกับหลวงพ่อซึ่งเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่ถ้ำเสือ ต่อมาก็คิดว่าอยู่ไกลญาติ เวลาญาติๆจะมาทำบุญหรือเวลาที่เราจะไปเยี่ยมญาติก็ลำบาก จึงตัดสินใจมาพักจำพรรษาอยู่ที่ เขาสามยอด จังหวัดลพบุรี ที่ ค่ายอานันทมหิดล ก็อาศัยเชิงเขาที่มีกุฏิว่างก็เลยอยู่ปฏิบัติภาวนา 1 พรรษา เคยบอกโยมแม่ว่า ถ้ามีถ้ำแต่ไม่มีคนอยู่ เราจะไปอยู่ โยมแม่ก็ไปบอกน้าเขยซึ่งเป็นญาติกับเจ้าอาวาส เขาก็บอกว่า "ที่ปากช่องนี่มีถ้ำ ท่านเจ้าอาวาสก็ชรามากแล้ว และกำลังป่อยอยู่ มาเยี่ยมท่านสิ หรือจะมาพักภาวนาก้ได้ ท่าไม่ว่าอะไรหรอก"

เราก็เก็บความรู้สึกตรงนั้นไว้ พออกพรรษาปุ๊บก็ไปหาคณะเพื่อนฝูงที่อยู่ฝั่งลาว แล้วก็ชวนกันมาที่จังหวัดพังงา วัดเขาเต่า ซึ่งตอนนั้น พระอาจารย์ชอบ สุจริตโต มาพักที่นี่ ท่านก็บอกให้ลองมาดูก่อน พอมาดูก็เกิดความชอบในถ้ำ เพราะเป็นดินธรรมชาติ มีมูลค้างคาว จึงคิดว่าก็ดีไม่มีใครมารบกวน จะได้ตั้งใจภาวนาทำความสงบ เพราะหมู่บ้านก็ไม่มี นี่แหละเป็นเหตุให้เราได้มาพัก


ครูบาอาจารย์ที่นับถือ

ครูบาอาจารย์ที่นับถือตามประสาของอาตมานั้นหมายถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราเลื่อมใสศรัทธาและอยากเห็นอยากสัมผัส ทีนี้บุคคลที่ตัวตนที่จะปรากฏให้เราได้เห็นได้กราบที่เป็นรูปธรรมนี้เป็นใคร เราก็เที่ยวแสวงหา เข้าไปหาครูบาอาจารย์ที่นับถือ พระเจ้าพระสงฆ์ก็เข้าไปหาทุกท่านทุกองค์ องค์ไหนที่ท่านปฏิบัติก็นับถือ แต่โดยมากก็เข้าไม่ถึงหรอก เคยไปกราบ หลวงพ่อดาบส ที่จังหวัดเชียงราย ก็เข้าไปได้แป๊บๆ แล้วก็ต้องออกมา จะเข้าไปหาครูบาอาจารย์อีกองค์ก็เลยไม่มั่นใจ เมื่อได้ยินกิตติศัพท์ก็เที่ยวแสวงหาไปทั่ว ครูบาอาจารย์ที่เรานับถือที่เขากล่าวขานกันในวัดถ้ำปาฏิหารย์ เราก็จำไว้ ก็มี หลวงปู่เที่ยงธรรม ธมมโชโต จำไว้ว่าท่านมี อภิญญาจิต ท่านก็สามารถรู้วาระจิตได้ ท่านเก่งในการช่วยเหลือคน เรื่องการถอนคุณไสยมนต์ดำ แล้วสหธรรมิกอีกท่านหนึ่งก็คือ หลวงปู่สรวง ที่เคยเที่ยวธุดงค์ด้วยกันก็จำไว้

ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ก็คือครูบาอาจารย์ที่เรานับถือ และให้ความอนุเคราะห์ หลวงปู่สรวงในส่วนตัวท่านก็ทดสอบเราหนึ่งคืนกับอีกครึ่งวัน คือนอนอยู่กับท่าน เอาผ้าห่มๆให้ท่านก็สลัดออก จะเข้าไปก่อไฟให้ จะไปปฏิบัติรับใช้ท่านก็ไล่หนี ก็เลยเอาผ้ากองไว้ตรงนั้น คิดว่าที่ท่านคงไม่คุยกับเรา ท่านคงไม่เมตตาเรา ท่านจึงได้ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นอย่างนี้ จนบ่ายท่านจึงเมตตา เราจะเอาผ้าเรากลับ พอเราจับผ้าท่านก็พูดเป็นภาษาเขมร พอไปถามชาวบ้านเขาก็บอกว่า ไปจับทำไมถวายแล้ว นี่เป็นสิ่งที่ท่านรู้ คือท่านหยั่งรู้เจตนาของเรา แล้วท่านก็เมตตาและให้อธิษฐานจิตต่อหน้าท่าน เรามาปฏิบัติหรือทำอะไรก็จะสำเร็จ

อีกองค์หนึ่ง คือ หลวงปู่บุญมี โชติปาโล วัดสระประสานสุข อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นครูบาอาจารย์ที่สำคัญอีกองค์หนึ่ง เราจะไปขอพรท่านอยู่เรื่อยๆ ช่วงที่มาอยู่ที่ วัดศิมาลัยทรงธรรม ก็ได้ไปขอพรจากท่าน ท่านก็จะแสดงธรรมให้ฟัง อย่างเช่น "รักตัวกลัวเสียหาย ละชั่ว ประพฤติดี ละทิฐิ ไม่เป็นคนพาล หวังเพื่อ พระนิพพาน บำเพ็ญฌาน สนองคุณ" ท่านก็เมตตาเรา กระแสบารมีกระแสญานของท่านก็ทำให้เราอยู่รอดปลอดภัยจากสิ่งที่เข้ามารบกวนและความแห้งแล้งกันดารตรงนี้

ปัจจุบันนี้ เราก็นับถือครูบาอาจารย์อยู่รูปหนึ่ง ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดนครราชสีมา ท่านก็คือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ซึ่งเราก็ไปถวายความนอบน้อมสักการะในวันเกิดของท่าน แล้วก้ไปตั้งโรงทานอยู่ทุกปี งานสรงน้ำท่านก็ไปไม่เคยขาด บางครั้งก็เข้าถึงท่าน บางครั้งก็เข้าไม่ถึง แต่สิ่งที่ทำและปรากฎอยู่ก็คือ เมื่อทำหนังสือธรรมะเล่มแล้วเล่มเล่าเราก็จะนำไปถวายท่านเป็นพุทธบูชา อยากให้คนทั้งหลายรู้ถึง สภาวธรรม ของท่านที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความ เมตตา กรุณา มุทิตา และความยินดี ท่านช่วยเหลือวัดวาอารามและทุกๆที่ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ราชการ หน่วยงาน หรือจะเป็นยาจก วณิพก ทั้งโครงการต่างๆที่ปรากฎเป็นรูปธรรมก็ดี หรือที่ไม่ปรากฎก็ดี ที่เรารู้เห็นเราเข้าใจตามประสาของเรา ถือว่าท่านเป็นเนติเป็นแบบอย่างให้เราได้เห็นในกายเนื้อกายหนัง เราจึงทำพระของท่านไปวางไว้ที่หน้าพระประธาน มีพระดินเผาที่เราทำรูปท่าน หรือรูปของพระพุทธเจ้าบ้างมาทำ เพื่อนำไปถวายเป็นพุทธบูชา เมื่อหมดแล้วก็นำไปเติมอยู่เรื่อยๆ นี่ก็เป็นครูบาอาจารย์อีกองค์หนึ่งที่อาตมาประทับใจ และนับถือเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นก็เป็นครูพักลักจำ คือจะนำหนังสือของท่านมาอ่านมาปฏิบัติภาวนาเอง


ภาระหน้าที่ต่างๆ

  • เป็นผู้แทนคณะสงฆ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าเฝ้ารับการถวายข้าวทิพย์จาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2550

  • พระราชพุฒิมุณี ประธานสงฆ์ไทยนำชัยคุ้มภัยใต้ พร้อมด้วย หลวงปู่ครูบาศรีเทพ และ พระอธิการฉัตรชัย อนาลโย ทำพิธี สวดมนต์อุปปาตะสันติ (มนต์สงบระงับภัยร้าย) เพื่อสร้างความสงบสันติสุขและเป็นขวัญกำลังใจแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

  • ร่วมสมทบผ้ากฐินพระราชทาน มอบแด่พระสงฆ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 108 วัด โดยมี พระธรรมโกศาจารย์ อธิบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยเป็นประธานฝ่ายสงฆ์

  • ร่วมพิธี งานพลังศรัทธา มหาบารมี จตุคามรามเทพ เพื่อจัดสร้าง พระพุทธนิรันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ เพื่อส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ และประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

  • พระอาจารย์ได้นำ พระนางพญา เนื้อดินเผาจำนวน 50,000 องค์มาแจกจ่ายให้กับประชาชนหลังลงนามถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่โรงพยาบาลศิริราช

 

 

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 52,534 Today: 20 PageView/Month: 24

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...