วัดศิมาลัยทรงธรรม http://watsimalai.siam2web.com/

บรรยายธรรมโดยหลวงปู่โต

  • กรรม คือการกระทำ
  • กรรมเวรบรรเทาได้ด้วยการภาวนา
  • สร้างเรือสุพรรณหงส์บนยอดเขา
  • การสร้างฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้า
  • รูปปั้นที่อยู่ในถ้ำ
  • พญานาค 9 เศียร
  • ปาฏิหารย์และสิ่งลี้ลับ
  • โลงศพและไม้เท้าต่างๆ ที่อยู่ในกุฏิ
  • เมื่อคนเราหลงไปในกระแสโลก
  • ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา
  • ไม่ว่าจะทำอะไร ขอให้ทำแบบเพียงพอ
  • เมื่อมีกระแสอะไรเข้ามา เราควรใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองเสียก่อน
  • ทุกข์เกิดที่จิต สงบจิตระงับทุกข์

กรรม คือการกระทำ

กรรม ในที่นี้ถ้าเรากล่าวในศาสนาก็คือ การกระทำนั่นเอง การทำดีก็ดี การทำชั่วก็ดี การทำบุญก็ดี หรือการทำบาปก็ดี ล้วนแต่มาลงที่ใจ ใจเป็นผู้รับทั้งสิ้น ส่วนกายนั้นไม่รู้เรื่องกับเขาหรอก เมื่อเข้ามาทางตา ใจก็รับเข้ามา เข้ามาทางหูๆก็กระทบเสียง ใจก็รับ ซึ่ง กรรม เกิดจากการกระทำ ทำด้วย มโน คือความคิด เมื่อเราคิดไปในทางที่ผิด คิดจะรักเขา ฆ่าเขา เมื่อคิดแล้วก็ทำได้ เมื่อฆ่าเขาได้มันก็ย่อมเป็นกรรมเรียกว่า กรรมชั่ว แต่กรรมที่เราคิดดี คิดจะถือศีล คิดจะภาวนา คิดจะทำใจให้สงบ ไม่เบียดเบียนใคร เมตตา กรุณา แผ่ออกไป

อย่างกรณีของอาตมาจะนึกถึง พุทธบูชา กรรมที่เป็นฝ่ายดีก็ทำให้เราได้เห็น มีหูตาสว่างกว้างไกลออกไป ได้ช่วยเหลือคนทุกข์คนยาก ได้ช่วยเหลือสมณะชีพราหมณ์ได้มากขึ้น เวลามีการมีงานอะไรเราก็มีเสบียงนำส่งไปร่วมแผ่เมตตาถวายท่าน ทำให้มีกำลังมากขึ้นก็คือ กรรมดี แต่กรรมนั้นถ้าเป็นกรรมชั่วก็ย่อมได้ผลไปต่างๆนาๆ เช่น หากเราฆ่าสัตว์ ก็จะมีวิบากกรรมเจ็บแข้งเจ็บขา ปวดเมื่อย เป็นโรคนั้นโรคนี้อยู่ประจำ จะเป็นปัจจุบันชาติก็ดีอีกกี่ชาติก็ดี กรรมนั้นก็ย่อมให้ผลปรากฎเป็นโรคกรรม ทรัพย์สินสิ่งของล้มละลายสูญหายไปด้วยกรรม ด้วยวิบากกรรม โรคเก่า เหล่านี้มันปรากฏเกิดขึ้น

เราอย่ในพุทธศาสนา เราเชื่อในเรื่องบุญเรื่องบาป เรื่องกรรมดี กรรมชั่ว เอาตัวเราเป็นเครื่องวัด เอาตัวเราเป็นสนามรบ เพราะกรรมก็เกิดจากความนึกคิดมาก่อน ซึ่งก็คือ มโนกรรม ส่วนที่เกิดจากคำพูดก็คือ วจีกรรม และที่เกิดจากกายก็คือ กายกรรม ดังนั้นกรรมต่างๆ ก็มีหลายสาเหตุด้วยกัน บางกรรมก็เป็นเผ่าพันธุ์พวกพ้อง เป็นกรรมของบิดามารดา เป็นกรรมของปู่ย่าตายาย สิ่งเหล่านี้เป็นกรรมพันธุ์ เป็นกรรมที่ต้องพึ่งพาอาศัย กรรมเป็นแดนเกิด กรรมอะไรก็ตามล้วนมาจากการกระทำทั้งสิ้น กรรมดีกรรมชั่ว ซึ่งการแก้กรรมนั้นเราจะพูดถึงการแก้กรรมในฝ่ายที่ไม่ดี กรรมบางอย่างที่ทำให้ป่วยไข้มา เราก็แผ่เมตตา อาศัย พุทธคุณ แผ่เมตตาให้เขา ให้เขาระลึกถึงกรรม ระลึกถึงเจ้ากรรมนายเวร ให้เขานั่งสมาธิภาวนา พอเขามีกำลังจิตเพียงพอ กรรมใดที่ไม่เป็นการผูกเวรกันนักหนักนัก กรรมใดที่พอจะอโหสิกรรมให้กันได้ กรรมเหล่านั้นก็จะปลดเปลื้องไปด้วยกำลังจิตของเขาเอง ด้วยกำลังที่สะสมมา ที่เราถวายเป็น พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา อะไรทั้งหลาย เราก็แผ่ไปให้เขา บางท่านก็อุปาทานว่าหาย ว่าสบาย ว่าพ้น ว่ามีความสุข ว่าดีขึ้น ก็แล้วแต่การแก้กรรมนั้น อาตมาจะแก้โดยการให้เขาถือศีลภาวนา แล้วเราก็จะช่วยเขาแผ่เมตตา


กรรมเวรบรรเทาได้ด้วยการภาวนา

เมื่อสิ่งที่เรากระทำนั้นมันไม่ดี เรากล่าวถึงสิ่งไม่ดี มันก็ต้องมีเวร เหมือนเราว่าเขาๆก็ต้องว่าเรา เราลักทรัพย์ของเขาๆก็ลักทรัพย์ของเรา เมื่อเราทำร้ายเขาๆก็ต้องทำร้ายเรา จะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมความคิดนึกก็ดี ก็ย่อมมีความอาฆาตพยาบาท คือ เป็นสันดานเป็นนิสัยของมนุษย์ที่มี ก็คือ ความอาฆาตพยาบาท ความตระหนี่ถี่เหนียว ความหวงแหน ความโลภ ความโกรธ และความหลง ท่านจึงต้องให้มาบรรเทาลดละด้วย ไตรสิกขา คือ ศีล ความปกติแห่งกาย วาจา ใจ สมาธิ คือ ความตั้งมั่นตามชั้นตามภูมิ และการใช้ ปัญญา พิจารณาไตร่ตรอง ความร้อนแห่งเพลิง ราคะ อันเกิดมีในใจ โทสะ ความโกรธแค้นอาฆาตพยาบาท โมหะ ความหลง คือ ท่านให้เรามาดูที่ใจของเราเอง

ทีนี้ กรรมเวร คือ สิ่งที่กระทำออกมาทางกาย วาจา ใจ โดยความเร่าร้อนต่างๆ ปรากฎขึ้น เมื่อรูปกับรูปกระทบกัน คือ กายกับกาย ใจก็คิดนึกหาวิธี เราก็ชวนเขามา อโหสิกรรม คือ จะต้องชดใช้ หมายความว่า เมื่อเขาได้รับกรรมก็ย่อมมีความเสื่อมเป็นธรรมดา กิจการงานต่างๆ การป่วย การอาพาธบางอย่างก็เป็นโรคเก่า บางอย่างก็เป็นไปตามอายุขัยตามสังขาร บางครั้งก็งความวิบัติมอดไหม้ ความเสียหายต่างๆ บุคคลย่อมรู้ด้วยตนเองว่ากรรมปรากฏแก่ตัวแล้วเป็นยังไง มีความย่อยยับถึงเครือญาติ มีคนประทุษร้ายให้ได้รับความเจ็บป่วย เป็นต้น

บาป บุญ และ กรรม นั้นจะเห็นได้ในปัจจุบันชาติ เวรกรรม เป็นสิ่งที่เราต้องชดใช้ เราสามารถรู้เห็นกันในปัจจุบันนี่แหละ ไม่ต้องไปดูที่ไหนหรอก ให้ดูในปัจจุบัน ดูในสิ่งที่เราก่อขึ้นนั้นแหละ ว่าเป็นสิ่งดีหรือไม่ แล้วก็ดูผลของสิ่งนั้นว่าเป็นอย่างไร กรรมนั้นเราสามารถจะบรรเทาได้ด้วย การภาวนา คือ การน้อมนำเอาไตรสิกขา คือ ศีล ความปกติของกาย วาจา ใจ ให้เป็นปกติ เอาสมาธิความตั้งมั่น ความสงบใจ ความปลดเปลื้องในตัวเอง ราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลงตามขั้นตามตอน เอาปัญญามาน้อมนำ และเอา สามัญลักษณะ คือ ไตรสิกขา ไดรลักษณ์ ทุกขัง ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เพื่อไม่ให้เรายึดมั่นถือมั่น

เมื่อจิตเรามีความสงบก็เอาพลังแห่งความสงบนั้นมาอโหสิกรรม มาแผ่เมตตา พอเรามีความสงบก็ย่อมนึกถึงสิ่งต่างๆ จะไม่เข้าข้างตัวเอง ไม่เข้าข้าง ทิฐิ ย่อมสอดส่องมองเห็นว่านี่คือกรรม ซึ่งเราต้องยอมรับนะ เพราะจิตนั้นมีความละเอียดอ่อนมาก พอมองเห็นกรรมของตัวเอง แน่นอนเราต้องหวาดกลัวกับภัยที่มันจะเกิดขึ้น เกิดความหวาดกลัวไม่อยากจะทำ ก็จะได้สร้างสมแต่ความดี ปฏิบัติบูชาเอา พระพุทธเจ้า เป็นธงชัย เป็นสรณะเป็นที่พึ่ง และธรรมบูชา นำธรรมะต่างๆที่เรายังไม่ได้เรียนรู้มาเรียนรู้มาพินิจพิจารณา ที่เรียนรู้แล้วก็ทำให้เจริญยิ่งขึ้น สังฆบูชา น้อมนำเข้าสู่ผู้เป็นธงชัย คือ ผ้ากาสาวพัสตร์ธงชัย ที่พระอรหันต์ครอบครองอยู่คลุมร่างท่านอยู่เป็นธงชัย เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจว่าเราจะต้องไปถึงจุดนั้นตรงนั้นให้ได้ ตรงนั้นก็คือ พระนิพพาน ซึ่งจะต้องเอาเป็นธงชัยให้ได้ กรรมเวรต่างๆที่จะมาถึงมันก็มาไม่ถึง ที่มาถึงแล้วมันก็จะลดละ หรืออโหสิกันไป อีกอย่างหนึ่งคือ จิตใจของเราก็จะผ่องใสเบิกบาน แล้วก็เชื่อในบุญในบาป เราก็จะไม่ทำบาป กรรมเวรต่างๆ ก็จะไกลออกไป มีแต่บุญ มีแต่กุศล มีแต่เมตตา มีแต่ทานที่มุ่งไปข้างหน้า


สร้างเรือสุพรรณหงส์บนยอดเขา

การสร้าง เรือสุพรรณหงส์ นั้น อุปมาว่า เรือนั้นเป็นเรือที่ครูบาอาจารย์ท่านได้สร้างมาก่อนแล้ว คือสร้างเป็นเรือสุพรรณหงส์ขนาดใหญ่ เมื่อเราได้ไปพบเห็นเราก็มาพิจารณาเป็นปริศนาธรรมว่า สัตว์ในที่กันดารทั้งหลาย รวมทั้งผู้ที่ท่องเที่ยวไปในวัฏสงสาร ก็ควรที่จะมียวดยานพาหนะไว้ใช้ในการท่องเที่ยวไป ดังนั้นเมื่อเรามีบุญมีกุศลร่วมกัน เราก็ควรจะได้ขึ้นเรือลำเดียวกัน ได้ล่องเรือไปด้วยกัน ซึ่งเรือชั้นสูงก็คือเรือสุพรรณหงส์ เป็นเรือที่หงส์พาบินทะยานขึ้นไปสู่ท้องฟ้า ซึ่งถ้าหากเราได้ท่องเที่ยวไปในบุญญาธิการ คือได้ทำบุญหรือแสวงบุญอยู่จะมากจะน้อยก็แล้วแต่ที่ได้มาร่วมกันสร้างร่วมกันทำขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นอิฐ หิน ปูน ทราย เป็นแก้ว เป็นกระจก เป็นหัว เป็นหาง หรือจะเป็นโครงสร้างต่างๆของหงส์ หรือของสัตว์ทั้ง 12 ราศี ก็เหมือนกับว่าเราได้ร่วมกันสร้างบุญบารมีไปด้วยกัน

ซึ่งถ้าหากครั้งหนึ่งครั้งใดที่เขาทั้งหลายเหล่านั้นเกิดพลั้งพลาดพลั้งเผลอ หรือว่าทำผิดพลาดไป ด้วยอำนาจบุญกุศลที่เราได้ร่วมสร้างกันมา จะได้ช่วยฉุดดึงเขาทั้งหลายเหล่านั้นให้ไปถูกทิศถูกทาง และสามารถจะช่วยย่นระยะทางเพื่อเราจะได้ท่องเที่ยวไปได้ยาวนาน แล้วก็พากันมาถือศีลมาปฏิบัติธรรม คือเรามีเป้าหมายเอาไว้อย่างนั้น หมายถึงว่า เราอยากจะช่วยย่นระยะทางเพื่อเราจะได้ท่องเที่ยวไปได้ยาวนาน แล้วก็พากันมาถือศีลปฏิบัติธรรม คือเรามีเป้าหมายเอาไว้อย่างนั้น หมายถึงว่า เราอยากจะขนสัตว์พาสัตว์ทั้งหลายที่ท่องเที่ยวกันอยู่ ให้มาสร้างบุญสร้างกุศลในที่สูง ซึ่งหลวงปู่เที่ยงธรรมท่านเคยบอกเอาไว้ว่า "การสร้างของไว้บนที่สูงแล้วแผ่ลงมาจะได้บุญมาก จะถึงเขาทั้งหลายได้มาก" อาตมาจึงได้สร้างไว้บนยอดเขา นั่นก็คือจุดประสงค์อย่างหนึ่ง

แล้วที่ทำเป็นเรือสุพรรณหงส์ก็เพราะว่าหงส์นั้นเป็นสัตว์ชั้นสูง และเราจะได้ไปชักนำญาติโยมทั้งหลาย ทั้ง 12 นักษัตร ทั้ง 12 ปีเกิด หรือคนที่ผ่านไปผ่านมาเมื่อเขารู้ข่าวการสร้างก็จะได้มาร่วมกันประพฤติปฏิบัติธรรม มาร่วมกันสืบสร้างถาวรวัตถุเพื่อให้อยู่คู่กับพระพุทธศาสนาสืบอายุ 5,000 ปี ก็ใช่อย่างหนึ่ง และการที่เราทั้งหลายได้มาประกอบปริศนาธรรมตัวนี้เป็นเรือสุพรรณหงส์นั้น ก็อุปมาว่า เราทั้งหลายได้ขึ้นยวดยานพาหนะไปด้วยกัน เพื่อจะล่องลอยไปในท้องฟ้า ซึ่งเราจะนำบุญนำกุศลหรือสิ่งที่เป็นนาบุญตางๆไปด้วย จะนำเอาความองอาจผ่าเผย และความสง่างามไปด้วย ก็เหมือนกับหงส์ที่บินทะยานมุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางของมัน ซึ่งอาตมาได้หมายมั่นเอาไว้อย่างนั้น คือหมายความว่า จะสร้างไว้เพื่อใช้เป็นยานพาหนะที่ให้เราทั้งหลายได้ล่องลอยไปด้วยกัน ตือล่องลอยไปสู่ พระนิพพาน นั่นเอง


การสร้างฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้า

ถัดลงมาน่าจะเห็นเป็นฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งในสมัยก่อนเมื่อพระพุทธองค์ยังทรงมีพระชนม์อยู่ ก็จะให้สร้างสถูปเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์สถานแก่ พระเอตทัคคะ คือผู้เป็นเลิศในหมู่สงฆ์ทั้งหลาย องค์นั้นละขันธปรินิพพานตรงนั้น ท่านก็ให้ตั้งที่ทางสามแพร่งบ้าง สี่แพร่งบ้าง สร้างสถูปเจดีย์บ้าง และการที่พระองค์ทรงดับขันธปรินิพพานไปแล้ว สาวกทั้งหลายในครั้งพุทธกาลและปฐมกาลถัดจากนั้นมาก็ได้สร้างสถูปฝ่าพระบาทบ้าง ฝ่าพระหัตถ์บ้างไว้เป็นอนุสรณ์สถาน แต่ยังไม่มีรูปของพระศาสดา ยังไม่มีพระพุทธรูป ครั้นเพิ่งจะเกิดมีขึ้นในนยุคของ พระเจ้ามิลินท์ ที่มาล่าอนานิคม ท่านเกิดเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงไก้สร้างรูปเหมือนของพระพุทธเจ้าขึ้นมาที่อินเดีย

การสร้างฝ่าพระหัตถ์นั้นคือ อยากสร้างพระองค์ใหญ่ให้สมกับที่เราอยากถวายเป็นพุทธบูชา เมื่อสร้างเจดีย์ไปแล้ว ก็อุปมาว่า เจดีย์นั้นก็เป็นเกตุเป็นยอดเศียรของพระพุทธเจ้า ส่วนมือนั้นก็เป็นพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้า ส่วนเท้านั้นท่านกำลังนั่งโปรดสัตว์และแผ่เมตตาอยู่ เหมือน ปางประทานพร อุปมาอย่างนั้นในความเข้าใจของเรา ปริศนาธรรมอีกอย่างหนึ่งก็คือ ก่อนนั้นมีแค่สถูปเจดีย์และฝ่าพระหัตถ์เป็นปูชนียสถาน เป็นที่ระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้า ที่มีฝ่าพระหัตถ์ฝ่าพระบาทและสถูปเจดีย์ ก็เพราะไม่อยากให้หลงลืมกันไป คือเราทำในสิ่งที่ท่านเคยทำมาก่อน พระเถระสาวก ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เคยสืบทอดกันมา เคยทำมาก่อนแล้ว เราก็เลยทำประดับไว้ในวัดศิมาลัยทรงธรรม ก็หวังว่าจะเป็นสมบัติ ของพระพุทธศาสนาสืบต่อไป


รูปปั้นที่อยู่ในถ้ำ

บางครั้งบางทีที่เราเรียนรู้สมาธินั้น มันก็เป็น ปัจจัตตัง ซึ่งการที่เราจะเรียนรู้และสามารถที่จะเอาตัวรอดได้นั้น เราจะต้องใช้ความพยายามมากพอสมควรทีเดียว ตอนนี้เราเดินมาท่ามกลางกึ่งพุทธกาล เมื่อเราเปิดดูในพระไตรปิฎกมันก็ไม่ตรงกัน ดังนั้นเมื่อเราจะเรียนรู้เราก็ต้องมีครูบาอาจารย์อะไรต่อมิอะไรที่เข้ามาปะปนในระหว่างการเดินทางศึกษาของเรา ในชาดกนั้นท่านได้กล่าวถึงเรื่องราวต่างๆของเทวดาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ พระพรหม เรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เรื่องของ รุกขเทวดา ผี หรืออะไรก็ตาม เมื่อเราได้ทำสมาธิจนเกิดเห็นคุณในถ้ำในคูหา ในที่ๆเราเข้าไปวิเวกปฏิบัติ เราจึงได้ทำเป็นที่ปฏิบัติธรรม และเราก็ยกอุปมารูปภาพรูปเหมือนที่เขามาบริจาค ยกเป็นเทวดาเป็นเทพชั้นต่างๆให้คนทั้งหลายเกิดสุนทรีย์ เกิดมีจิตยินดีปรีดาที่จะทำ หิริโอตัปปะ คือ ธรรมของเทวดาให้เกิด ทำจิตให้มี เมตตา กรุณา อุเบกขา คือ ทำจิตของพรหมให้เกิด จึงได้มีรูปเหมือนในปางสมาธิต่างๆอยู่ในถ้ำซึ่งเป็นสถานที่ๆเราเข้าไปปฏิบัติ อีกอย่างหนึ่งก็คือ เราก็เอาไว้สักการะบูชาของเราเองให้เราได้ระลึกถึงองค์ท่านทั้งหลาย ที่ได้มาสอนธรรมและสอนกรรมฐานหรือคอยปกปักษ์รักษาเรา ให้เราได้อยู่ได้ประพฤติกันอย่างมีความสุข ดังนั้นการที่เราได้ทำรูปปั้นไว้ในถ้ำนั้นก็คือ ทำเป็นอนุสรณ์ไว้นั้นเอง


พญานาค 9 เศียร

ส่วนผ้าปักลาย ฝ่าพระพุทธบาท ที่เห็นอยู่นั้นอาตมาได้มาจากเชียงราย เมื่อปี พ.ศ. 2547 เมื่อได้มาแล้วก็เอามาปูพื้น เอามากราบไหว้ก็เป็นนิมิตขึ้นมาว่า มีฝ่าพระพุทธบาทเกิดขึ้นที่ลานข้างล่าง เราก็แปลกใจ เพราะฝ่าพระพุทธบาทนั้นใหญ่มาก ครั้นช่วงบ่ายก็จะมีช่างเข้ามา เขาเป็นคนเหนือมาเที่ยว เราก็เลยให้เขากรีดเป็นรอยฝ่าพระพุทธบาท แล้วในรอยฝ่าพระพุทธบาทนั้นก็มีรอยของพญานาคอยู่ด้วย ดังนั้นเราก็เลยสร้างพญานาคไว้ด้วย เมื่อฝ่าพระพุทธบาทใหญ่พญานาคก็ต้องใหญ่ตามไปด้วย จึงถือโอกาสในวารดิถีครบรอบ 60 ปีการครองราชย์ และครบ 80 ปีพระชนมพรรษาของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้สร้างเป็นพญานาค 9 เศียรขึ้นในวโรกาสนี้ คือสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 9 แล้วก็ขอให้ความเป็น 9 จะเป็นการก้าวไปข้างหน้าของประเทศไทย ขอให้เกิดความสันติสุขขึ้นกับประเทศไทย แล้วพญานาคก็เป็นสัตว์ที่อยู่ในป่าหิมพานต์ เป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับพระพุทธศาสนามาช้านานแล้ว ครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านก็กล่าวถึงพญานาคกันทั้งนั้น และที่สร้างตรงนี้ก็เพราะหวังว่าจะให้สยามประเทศในความรู้สึกของเราได้มีความเจริญก้าวหน้าอยู่ใต้ร่มพระโพธิสมภารขององค์พระมหากษัตริย์ หวังจะให้ดลจิตดลใจให้ทุกคนเป็นเหมือนพญานาคที่คอยปกปักรักษาพระพุทธศาสนา อยากให้ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และพพสกนิกรชาวไทยทุกคนรวมใจเป็นหนึ่งเดียว คือ ให้จิตหน่วงเข้าไปในองค์พระประมุข ก็เหมือนกันที่พญานาคหน่วงใจไปในพระพุทธศาสนา พยายามอยู่รอบๆฝ่าพระพุทธบาทเพื่อจะเข้าไปอารักขาก็เปรียบเสมือนกับพสกนิกรชาวไทยทั้งหลาย ซึ่งอาจจะเป็นเกล็ดเป็นหางเป็นโครงสร้างต่างๆรวมกัน ส่วนหัวพญานาค 9 เศียรนั้นก็คือ เหมือนกับการที่เราเชิดชูองค์พระประมุขภูมิพลของเรา อาตมาตั้งใจเอาไว้อย่างนั้น


ปาฏิหารย์และสิ่งลี้ลับ

ส่วนเรื่องของปาฏิหารย์และสิ่งลี้ลับอะไรต่างๆ นั้นมันก็มีอยู่ อย่างเช่นที่อาตมาเคยไปเลียบลำน้ำโขงแถววัดศรีสะเกษ จังหวัดหนองคาย มี พระราชพุทธิมุนี ไปด้วย ก็ล่องเรือไปกับตำรวจน้ำ อาตมาก็ได้เจอมาด้วยตาเนื้อนี่แหละ เพราะตำรวจน้ำเขาชี้ให้ดู คนมากมายที่ไปด้วยเขาก็เห็นคือ เห็นเป็นรูปคดเคี้ยวอยู่ตามลำน้ำโขง อาตมาก็นั่งอธิษฐานจิตแผ่เมตตาอยู่กลางลำน้ำโขงทั้งสองฝั่งไทยลาว ซึ่งตอนที่กำลังนั่งทำพิธีพุทธาภิเษกอยู่นั้น ก็เห็นพญานาคเลื้อยมา ก็เห็นอย่างที่คนอื่นเขาเห็นกันนั้นแหละ ส่วนการเห็นในจิตหรือในนิมิตรนั้น มันก็เป็นเรื่องปัจจัตตัง คือ เป็นเรื่องที่รู้ได้เฉพาะตน เป็นสิ่งที่ใครปฏิบัติอย่างจริงจัง หรือบูชาจริงๆ เขาก็ย่อมจะสัมผัสรู้เองเห็นเองได้


โลงศพและไม้เท้าต่างๆ ที่อยู่ในกุฏิ

ส่วนโลงศพที่อยู่ในกุฏินั้นก็เป็น อนุสติ คือ ความระลึกถึงให้กับตนเอง ซึ่งอนุสตินี้มีอยู่ 10 อย่าง คือ

1. พุทธานุสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า

2. ธัมมานุสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรม

3. สังฆานุสติ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์

4. สีลานุสติ ระลึกถึงศีลที่ตนรักษา

5. จาคานุสติ ระลึกถึงทานที่ตนบริจาคแล้ว

6. เทวตานุสติ ระลึกถึงคุณที่ทำให้เป็นเทวดา

7. มรณัสสติ ระลึกถึงความตายที่จะต้องมีเป็นธรรมดา

8. กายคตานุสติ ระลึกทั่วไปในกายให้เห็นว่าไม่งาม

9. อานาปานสติ ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก

10. อุปสมานุสติ ระลึกถึงความเป็นที่สงบระงับกิเลสและความทุกข์คือนิพพาน

 

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสถูปเจดีย์หรืออะไรก็ตาม ก็ล้วนแต่ถวายเป็นพุทธบูชาทั้งนั้น ก็ล้วนแต่ถวายเป็นพุทธบูชาทั้งนั้น แม้กระทั่งกายเราๆก็เอาไปไม่ได้ คือให้เราเตือนตนอยู่เสมอ แล้วก็เตือนผู้อื่นด้วย ส่วน โอปนยิโก พระธรรมควรน้อมเข้ามาในใจ หรือน้อมใจเข้าไปให้ถึงด้วยการปฏิบัติให้เกิดมีขึ้นในใจ แล้วควรบอกกล่าวกับผู้อื่นทั้งหลายให้เข้ามาดูว่า เราแสวงหาอะไรกัน เราจะไปที่ไหนกัน ไปสุดที่ไหนกัน อีกอย่างหนึ่ง คือ คนทุกข์คนยากที่เขาไม่มี บางคนมาขอหน้ามืดหน้าเหลืองมาเลย มาบอกว่าไม่มีโลงศพจะไปขอที่มูลนิธิก็กลัวจะหลายขั้นตอน อาตมาก็เลยมอบให้ ซึ่งก็ไม่ได้มีพิธีรีตองอะไรหรอก ขอแค่ให้ตำรวจหมู่บ้านแจ้งมาจริงๆ แล้วก็มีหลักฐานมายืนยันก็เอาไปได้เลย ซึ่งก็เป็นการทำทานโดยบริจาคโลงศพนั่นเอง

 

ซึ่งเดิมที ครูบาศรีเทพ ท่านให้อาตมาเอาไว้ภาวนา และเอาไว้นอน อาตมาก็เอามาให้ทาน มาแบ่งให้คนจนใช้ด้วย แล้วคนทั้งหลายที่อยากทำบุญด้วยโลงศพ ก็เอามาทำบุญเป็นอนุสติเตือนใจเรา เป็นสิ่งที่ไม่หุ้กคนหลงอยู่ในความมัวเมา หรือไปหลงตามกระแสโลกอะไรมากนัก เพราะทุกอย่างย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป การสลายไปไม่มีใครได้อะไรไปในเปลือกโลกนี้หรอก ถ้าเราไม่ฝังเราก็ต้องเผ่า มีแค่สองกรณีเท่านั้นเอง ไม่อย่างนั้นก็แตกสลายหรือย่อยสลายไปเป็นอาหารของสัตว์ ซึ่งเป็นกฎธรรมดาธรรมชาติของมนุษย์ก็เป็นอย่างนั้น จริงๆ แล้วก็คือเอาไว้ปลง เอาไว้พิจารณาความเป็นจริง ว่าเราเกิดมาจะได้อะไรไปบ้าง

 

ส่วนไม้เท้าต่างๆที่เห็นนั้น ก็คือ ยามขึ้นเขาจำเป็นต้องใช้พยุงตัวเอง อีกอย่างหนึ่งคือ อาตมาต้องพบพระผู้ใหญ่ที่มีอายุบ่อยๆอย่าง หลวงปู่ใส ที่ท่านมาเยี่ยมเยียนอาตมา เป็นต้น แล้วเวลาไปในงานพิธีต่างๆก็เห็นว่าหลวงปู่ หลวงตานั้นลูกศิษย์ลูกหาก็ต้องจูงแขน หรือต้องคอยพยุงกัน ก็อยากจะเอาไม้เท้านี้ถวายเป็นพุทธบูชาแก่ท่าน แล้วเวลาขึ้นเขาก็จะมีงูเงี้ยวเขี้ยวขอเยอะ อาตมาก็ไม่อยากจะไปรบกวนพวกเขา ก็ใช้เขี่ยเขาออกไป เวลามีกิ้งกือหรือสัตว์แปลกประหลาดในป่าในเขาก็จะได้ใช้เขี่ย ที่สำคัญที่สุดคือ ใช้พยุงตัวเองยามขึ้นเขาจะได้ช่วยผ่อนแรงได้


เมื่อคนเราหลงไปในกระแสโลก

คนที่ไม่มีที่พึ่ง วัฏสงสารก็เหมือนห้วงน้ำ เขาทั้งหลายก็ลอยคอเกาะนั่นทีเกาะนี่ที ไม่มีที่พึ่งพิง เมื่อคนไม่มีที่พึ่งพิงก็จะมีนักปฏิบัติทั้งหลายมาสร้างอะไรต่อมิอะไรมาให้เกาะมาให้พึ่งพิง มีการโฆษณาชวนเชื่ออะไรต่างๆก็แล้วแต่ ก็เป็นพุทธพาณิชย์ตามยุคตามสมัยไป ดังนั้นสิ่งใดๆ ถ้าเราไม่กระทำด้วยกาย วาจา ใจ ไม่เอากาย วาจา ใจ ของเราเป็นที่ตั้ง เหมือนกับที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ท่านว่า "ลูกเอ๋ย เราไปเที่ยวยืมบารมีเขาจนล้นพ้นตัว ครั้นมีบารมีขึ้นมาแล้ว ก็ต้องเอาไปผ่อนใช้คืนเขา จะมีอะไรไปใช้ในโลกหน้าบ้างเล่า"

ดังนั้นการที่เราหลงไปตามกระแสโลก ก็ขอให้มีสติ หลงก็หลงไปเราไม่ว่า จะเป็นจตุคามจตุคำ จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ก็ขอให้เป็นอนุสรณ์ บุคคลใดที่ยึดมั่นถือมั่นแล้วก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะผลทั้งหลายนั้นล้วนเกิดมาจากการกระทำ คือ กระทำด้วยกาย วาจา ใจนั่นแหละ เทพท่านก็มีอยู่ แต่ท่านก็มีลิมิตของท่านที่จะช่วยเหลือ พระโพธิสัตว์ท่านก็ทำหน้าที่ของท่าน แต่มนุษย์ต่างหากเป็นผู้ตกแต่งให้ท่านเป็นโน่นเป็นนี่ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็เอาท่านมาแกรสภาพเป็นลาภ ยศ สุข สรรเสริญ เป็นอะไรต่อมิอะไรต่างๆ นานา

ในส่วนของความหลงนั้น คนเราก็ต้องมีหลงกันบ้าง คือ หลงไปตามกระแสโลก โลภตามกระแสโลก อย่างเช่น อยากจะได้ชื่อเสียงในการทำกิจการนั้นๆ อยากจะได้ทรัพย์สินเงินตรา อยากได้สาธารณูประโยชน์ให้เกิดขึ้นสังคม ดังนั้นในส่วนตรงนี้คนที่หลงก็หลงกันไป แต่ขอให้หลงอย่างมีสติ และให้ใช้ปัญญาในการพิจารณาไตร่ตรองด้วย พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่อง ไตรสิกขา คือเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้ ศีล ก็คือ การปฏิบัติเพื่อทำใจให้สะอาด สมาธิ ก็คือ ความมีจิตใจตั้งมั่น ไม่โอนเอนไปตามอำนาจกิเลส และสุดท้าย ปัญญา ก็คือ การรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง อีกทั้งยังทรงสอนเรื่องของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และเรื่องของ อริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ ซึ่งหมายถึงความจริงของชีวิตที่ไม่ผันแปร เกิดมีได้ทุกคน ซึ่งมีอยู่ 4 ประการด้วยกัน คือ

1. ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาของชีวิต พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า มนุษย์ทุกคนมีทุกข์เหมือนกันหมด ทั้งทุกข์ขั้นพื้นฐาน และทุกข์เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ทุกข์ขั้นพื้นฐาน ก็คือ ทุกข์ที่เกิดจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ส่วนทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวันก็คือ ทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการไม่ได้ตามที่ตั้งใจไว้และปรารถนาไว้ รวมทั้งทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ เช่น ความยากจน เป็นต้น

2. สมุทัย ได้แก่ เหตุของปัญหา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ทั้งหมดซึ่งเป็นปัญหาของชีวิตล้วนมีเหตุให้เกิด เหตุนั้นก็คือ ตัณหา อันได้แก่ ความอยากได้ต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วยความยึดมั่น

3. นิโรธ ได้แก่ การแก้ปัญหาได้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์คือปัญหาของชีวิตทั้งหมดที่สามารถแก้ไขได้โดยแก้ไขตามทางหรือวิธีแก้ของมันที่มีอยู่

4. นิโรธ ได้แก่ การปฏิบัติเพื่อจำกัดทุกข์ เพื่อให้หลุดพ้นจากทุกข์ การปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาและเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการแก้ปัญหาที่ต้องการ


ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา

ซึ่งศาสนาพุทธนั้นถือเป็นศาสนาของปัญญา เรื่องของสมาธิ เรื่องของศีล ท่านทรงสอนเรื่องของไตรสิกขา คือ เรื่องของศีล สมาธิ และปัญญา เพราะฉะนั้นผู้ที่หลงก็ควรจะพิจารณาว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนอะไรบ้าง และอะไรคือ แก่นแท้ของศาสนา อะไรคือ สิ่งที่ควรเชื่อ อะไรคือ สิ่งที่ไม่ควรเชื่อ เราชาวพุทธเป็นพุทธศาสนิกชน อย่าให้อายชนรุ่นหลัง ไม่ใช่พ่อเขาเปิดประวัติขึ้นมาอ่านดูแล้วต้องไม่ผิดหวัง

อีกทั้งกึ่งพุทธกาลนั้นมีประวัติอันแปลกพิสดารมากมาย แต่คนเราไม่ใช้ปัญญากันเลย ไม่เหมือนยุคก่อนๆที่เขาใช้ปัญญาในการกู้บ้านแปลงเมือง ใช้ปัญญาในการส่งธรรมทูตไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาจนเกิดเป็นปึกแผ่นขึ้นมา ซึ่งในสุวรรณภูมิประเทศไทยเราก็เกิดจากการใช้หลักเหตุและผล ใช้หลักในตำรับตำรา ใช้การพินิจพิจารณาชักชวนกันปฏิบัติ จึงเกิดเป็นวัดเป็นวาขึ้นมา ไม่เช่นนั้นเราก็ไม่สามารถจะก่อตั้งศาสนาขึ้นมาได้หรอก

ศาสนาพุทธของเรานั้น เป็นศาสนาแห่งปัญญา ดังนั้นก็ขอให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจงรู้ไว้เถิดว่า สิ่งศักดิ์สิทธินั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ของมวลสารของอะไรๆต่างก็มีอยู่ แต่สิ่งที่มีเหนือกว่านั้นก็คือ ปัญญา และ สมาธิ ความตั้งใจมั่น เราจะนำวัตถุใดๆมาทำให้สงบใจไม่ได้ อย่างเช่นที่เรามีองค์จตุคามรามเทพที่เกิดขึ้นมนกระแส ซึ่งอาตมาเองก็มี คือมีไว้เป็น อนุสติ คือ การระลึกถึงให้คนมีภูมิธรรม ส่วนเทวดาก็มี หิริ มี โอตตัปปะ คือ มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป แล้วที่มีเศียรพระพรหม มีรูปพระพรหม ก็หมายจะให้คนได้รู้จักความมี เมตตากรุณา ต่อกัน รู้จักการให้ซึ่งกันและกัน เป็นอภัยทาน รู้จักกตัญญูต่อพ่อแม่และผู้มีพระคุณ มีความยินดีเมื่อเขาทั้งหลายได้ดี และควรจะมี อุเบกขา คือมีความวางใจเฉย เมื่อให้หรือเมื่อทำอะไรไปแล้วก็อย่าปรารถนาสิ่งใด คือให้ด้วยความบริสุทธิใจ และมีรูปของพระเจ้า พระสงฆ์ พระโพธิสัตว์ หลวงปู่ทวด หลวงปู่โต ครูบาศรีวิชัย หลวงปู่มั่น หรือหลวงปู่เสาร์นั้น ก็หมายมั่น จะให้เป็นอนุสติ เป็นธงชัยให้เขาทั้งหลาย เมื่อเกิดการกวัดแกว่งของจิตใจหรืออารมณ์แปรปรวน ก็จะได้มีพึ่งที่ระลึก ดังนั้นอะไรๆก็ตามจะได้บริสุทธิ์ผุดผ่องดีไปด้วย


ไม่ว่าจะทำอะไร ขอให้ทำแบบเพียงพอ

ส่วนองค์จตุคามรามเทพนั้น ท่านก็มีที่มาที่ไป ท่านก็เป็นเจ้าเมืองเป็นกษัตริย์ ก็มีความเป็นมาต่างๆนานา เขายกท่านมาเป็นผู้เฝ้าพระบรมธาตุที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มาตั้งไว้ข้างหน้าเพื่อเป็นบริวาร คนเราก็ไปแปรสภาพของท่านจนเกินความเหมาะสม จึงเกิดความวุ่นวายสับสนขึ้น เกิดการโต้แย้งกันมากมาย เป็นอะไรต่อมิอะไรไป ดังนั้นก็ขอให้เราบริโภคอะไรๆให้พอสมควร จะบริโภคจะหลงอะไรก็ให้หลงแบบเพียงพอ จะโลภก็โลภแบบเพียงพอ เอาให้พอเพียงเท่านั้นก็พอแล้ว ไม่ใช่ปู้ยี่ปู้ยำเขา เอาให้เขาหมดทรัพย์หมดตัวกันไปเลย อย่าไปงมงายให้มากคือเอาแค่พอดี ยามที่เราจะชักชวนให้เขาหลงหรือจะโลภอะไรก็ตาม ก็ขอให้มีมูลมีเหตุ แล้วที่พยายามทำศาสนสถานต่างๆ ก็ขอให้มีที่มาที่อย่างชัดเจน ไม่มีนอกมีใน ขอให้โปร่งใสจริงๆ

ซึ่งกระแสต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น อาตมาก็ยินดีด้วย ขอแสดง มุทิตาจิต ที่เขาเอาไปสร้างเอาไปทำวัดวาอารามต่างๆ ที่ยังสร้างไม่เสร็จก็ได้สร้างจนเสร็จ ได้สร้างโบสถ์ สร้างเจดีย์ สร้างอะไรต่อมิอะไรกันมากมาย ดังนั้นเราไปทวนกระแสเขาไม่ได้ แต่ขอให้ผู้บริโภคนั่นแหละอย่าไปปักใจให้มากจนเกินไป ยามที่เราไม่ได้สมปรารถนาตามคำเชิญชวนแล้ว เราไปเสียใจเองทุกข์เอง แล้วก็จะเสื่อมศรัทธาเอง เพราะธรรมของเทวดาคือ หิริโอตัปปะ เราต้องทำเอง บุญเราๆต้องสร้างเอง ควรจะมาปฏิบัติภาวนาด้วยตัวเอง ให้เราเอาเรื่องของศาสนาและหัวใจของศาสนาเข้ามาด้วย อย่าให้เขาว่าเราได้

เดี๋ยวนี้ชาวต่างประเทศเขามาดูเมืองพุทธเราเยอะ เมืองพุทธเรามีกระแสอะไรที่แปลกๆ เขาก็มองนะ และเขาก็มีปัญญาเขาก็สามารถที่จะมองเห็นว่าอะไรคือการค้า อะไรคือการทำมูลนิธิ อะไรคือเรื่องของศาสนา เป็นต้น เพราะเขาเป็นประเทศที่ได้เก็บรวบรวมพระไตรปิฎกไว้ และเขาก็เรียนมา คือ ฝรั่งเขาเรียนจริงๆ อย่างที่อาตมาไปดูที่ วัดป่านานาชาติ ที่จังหวัดอุบลราชธานี สาย หลวงปู่ชา ซ่งเขาเรียนกันจริงๆ มีแต่ดอกเตอร์ทั้งนั้นเลย ในศาสนาของเรานี้กว้างพอ จะไม่มีการแบ่งวรรณะ และไม่ทำลายวรรณะ ไม่ว่าจะเป็น พราหมณ์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล ฯลฯ ซึ่งศาสนาของเรานั้นตั้งแต่องค์พระมหากษัตรืย์ องค์พระประมุข ราชวงศ์ ราชการ ทหาร ยาจกวณิพก ก็สามารถถือศีลปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ และเจริญปัญญาได้ ที่นี่ก็มีครบหมด คนบ้าก็ยังมาอยู่เลย ถึงเขาจะปฏิบัติไม่ได้ แต่เมื่อมีคนเอาเขามาทิ้งไว้ เราก็ต้องให้เขาอยู่ ส่วนคนที่เขาขาดสติวิปลาสก็มีเหมือนกัน


เมื่อมีกระแสอะไรเข้ามา เราควรใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองเสียก่อน

ดังนั้นเราต้องให้โอกาสแก่ทุกท่านทุกคน ซึ่งในกระแสของความบอบช้ำที่คนได้รับกันมาแล้ว ก็ขอให้เริ่มต้นกันใหม่ สิ่งไหนที่ควรแก่เหตุ ก็สร้างเหตุที่สมควร คือเราจะต้องรักษาน้ำพระทัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย ซึ่งไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ขอให้เกิดเป็นสาธารณประโยชน์ จะทำอะไรก็ควรทำเพื่อมวลชนคนทั้งหลาย เพื่อเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เพราะถ้าหวังแต่จะเอาเข้าตัวหรือเอาใส่ตัวแล้ว ผลสุดท้ายก็คือไม่มีใครได้อะไรไปหรอก จะมีแต่ความเสียหายย่อยยับ เทวดา เทพ ท่านก็ไม่ช่วย องค์ท้าวจตุคามรามเทพ ท่านก็ช่วยไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นถ้าเราทำไปเพื่อประโยชน์สุข เพื่อพวกพ้องของตัวเอง มันก็จะเป็นการทำลายตัวเราเองด้วย ยามปลดเปลื้องหนี้ การอธิษฐานจิตของเขาไม่หมดก็ต้องไปชดใช้กันที่โลกวิญญาณกันต่ออีก เหมือนกับที่ พระอาจารย์โต พรหมรังสี ท่านได้กล่าวไว้ว่า "เมื่อใช้กันไม่หมด ก็ต้องตามไปชดใช้กันที่โลกวิญญาณ" ท่านก็ย้ำอยู่เสมอ ครูบาอาจารย์ท่านก็ย้ำ อ่านในหนังสือท่านก็ย้ำแต่เรื่องนี้

เพราะฉะนั้นไม่ว่าอะไรก็ตาม จะกินป่ากินเขา กินถนนหนทาง กินบ้านกินเมือง จะทำลายหรือจะดึงงบประมาณต่างๆ มาบำบัดบำเรอตนอะไรก็ตามในทำนองเดียวกันนี้ ต้องใช้กรรมหมดแหละ ถึงตายก็ตายไม่ดี ถึงแม้จะตายดีเพราะบุญหนุน แต่บุญเราก็ทำมาพร้อมกับบาป เราก็ต้องไปชดใช้กันที่โลกวิญญาณต่ออีก

ดังนั้นอาตมาก็ขอฝากเอาไว้ว่า ศาสนาของเราคือ ศาสนาพุทธ พุทธะ คือ ผู้รู้ ดังนั้นศานาของผู้รู้ก็ควรจะใช้ปัญญาในการพินิจพิจารณาไตร่ตรอง ไม่ว่ากระแสอะไรก็ตามที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เฉพาะแต่กระแสที่จะมีมาในวันข้างหน้า จะกระแสอะไรก็แล้วแต่ ขอให้เราใช้ปัญญา เพราะถ้าเรามีศีลก็ดี มีสมาธิก็ดี เราก็จะเห็นเองรู้เอง และเราควรจะมีปัญญาพิจารณาไตร่ตรองว่า เรื่องนั้นควรหรือไม่ควรเชื่ออย่างไร เพราะเรายึดเองเราก็ต้องทุกข์เอง ยึดเองเสียหายเอง ก็ขอให้ชาวพุทธทั้งหลายจงมี ปัญญา ให้มากๆก็แล้วกัน เพราะถ้าเรามีปัญญาแล้วสิ่งต่างๆที่ตามมาก็จะดีเอง


ทุกข์เกิดที่จิต สงบจิตระงับทุกข์

เมื่อมี สติ รู้ ให้ดูจิตว่าง และวางกาย

จงอยู่กับจิต ใช้จิตให้เป็นประโยชน์ ให้จิตสงบ

จงอยู่กับกาย ใช้กายให้เป็นประโยชน์ สร้างบุญ เว้นบาป

โทษทัณฑ์ ที่ทำกับผู้ที่มีพระคุณ วิบากจะแรงกล้า

จิตที่มีศีลมีธรรม ย่อมจะได้สมบัติและความเชื่อถือจากผู้อื่น

เรามองไม่เห็น ไตรลักษณ์ จิตก็จะสงบไม่ได้ จะไปเกิดที่ไหนก็ต้องตกต่ำเพราะความหลง

มีเกิด มีดับ ในสรรพสิ่ง เพียงแต่มีสติดูกายก็พอ

อาหารทั้งสี่นั้น อากาสาหาร ถือว่าสำคัญที่สุด

มารทั้งห้า พญามาร และ กิเลสมาร นั้นน่ากลัวที่สุด เพราะเป็นตัวก่อภพ

สมบัติใดๆล้วนแต่ต้องสร้างมา จะเกิดขึ้นโดยบังเอิญไม่ได้

คุณของจิตที่สงบแล้ว ย่อมเป็นประโยชน์อเนกอนันต์

อารมณ์จิต อำนาจขันธ์ จะปรุงแต่ตามหน้าที่ท่องเที่ยวไปในวัฏสงสาร

กรรมเวร เป็นสิ่งที่ต้องชดใช้ แต่สามารถบรรเทาได้ด้วยการ ภาวนา

เคารพตน ไหว้คนได้ คนเชื่อถือตน คนทั้งหลายก็เคารพ

ตอนนี้เราได้ทำประโยชน์ใดๆ ในโลกแล้วหรือยังหาก เจริญพุทธานุสติ นึกไม่ได้ก็ให้เจริญ ธัมมานุสติ หรือ สังฆานุสติ แทน

การที่เราอยู่กับกายนั้น เราต้องรู้จักตามความเป็นจริง ให้รู้เห็นความเกิดดับของกายด้วย และเมื่ออยู่กับจิตก็อย่าได้หลงจิต หลงอารมณ์ เพราะเขาย่อมปรุงแต่งไปไม่สิ้นสุด เราควรจะ ทำดีให้ได้ ทำบุญให้ถูก รู้ธรรมให้เป็น เป็นสงฆ์ให้ชัด และต้อง กำจัดกิเลสให้หมด ส่วนเรื่องของเทพนั้น อย่าได้เอามาปะปนกับเรื่องของพระพุทธเจ้า

ธรรมะแท้ ย่อมมีผลเป็น พลังธรรม และ คุณธรรม เกิดขึ้นที่จิตของผู้กระทำพุทธบูชา เราควรทำเผื่อไว้ทั้งโลกนี้และโลกหน้า เผื่อให้คนที่ยังไม่เกิดด้วย
ปัจจุบันนี้คนรุ่นใหม่จะเห็น ธรรมะ เป็นเรื่องแปลกปลอมทั้งที่ธรรมะนั้นจำเป็นในชีวิตของเรา
ความวิบัติเสียหายที่ได้ยินได้ฟังมานั้น ก็เนื่องมาจากคนเราขาดศีล ขาดธรรม เรื่องของเวรของกรรมที่สร้างมันจึงได้เกิดขึ้น
เมื่อเรามีพระพุทธเจ้าเป็นครูแล้ว แต่ไม่ได้ปฏิบัติตามครู โทษทัณฑ์ก็มากมี ความเน่าภายในก็เริ่มเกิด ความประเสริฐก็จะเสื่อมหายไป
บาปมี บุญมี โลกนี้มี โลกหน้ามี ถ้าเราเชื่อพระพุทธองค์ และประจักษ์แก่ใจแล้ว
ส่วนการปฏิบัติธรรม ถ้าปฏิบัติกันจริงปฏิบัติกันถูก ย่อมจะเกิดความเจริญในทุกๆด้าน เพราะธรรมมีผลต่อการปกิบัติตามขั้นตามภูมิอยู่เสมอๆ
หากเราขาดผู้รู้ ขาดครูบาอาจารย์ ความเนิ่นนานแห่งความเจริญของศีลธรรมก็ย่อมปรากฏขึ้น
ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งแห่งตน ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสอนนั้น ต้องใช้ความสงบ วิเวก พิจารณา ซึ่งคนที่มีใจใฝ่ธรรมถึงจะเข้าใจ ถึงแม้ว่า อามิสบูชา มันจะล้นโลก เต็มโลก หรือจะวิจิตรอลังการแค่ไหนก็ยังไม่เท่ากับการ ปฏิบัติบูชา

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 52,515 Today: 2 PageView/Month: 5

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...